ทำไมรถยนต์นำเข้าในไทยถึงแพง? ว่าด้วยเรื่องภาษีรถนำเข้า

ในการนำเข้ารถยนต์มาในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องเสียภาษีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยราคาต้นทุนที่เอามาคำนวณภาษีนั้นเรียกว่าราคา CIF

ราคา CIF หมายถึง Cost(มูลค่า) Insurance(ประกัน) และ Freight(ค่าขนส่ง)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าราคารถยนต์ที่ประเทศต้นทางอยู่ที่ 500,000 บาท มีค่าขนส่งและค่าประกันจากประเทศต้นทางที่ 200,000 บาท ทำให้ค่า CIF อยู่ทั้งหมด 700,000 บาท นั่นเอง

การคำนวณภาษีรถนำเข้า

1. อากรขาเข้า

อากรขาเข้าคือการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพื่อนำมาใช้บริโภคในราชอาณาจักร โดยส่วนใหญ่แล้วอากรขาเข้าของรถยนต์อยู่ที่ 80% ของ CIF ยกเว้นในบางกรณี อาทิ รถยนต์ยี่ห้อ MG ที่จะไม่เสียภาษีอากรขาเข้าเนื่องจากไทยและจีนมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA

2. ภาษีสรรพสามิต

ภาษีสรรพสามิตคือการเก็บสินค้าและบริการที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย หลักการคำนวณจะแตกต่างกันออกไปตาม ประเภทของรถ ขนาดของเครื่องยนต์และปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ภาษีสรรพสามิตมีสูตรคำนวณดังต่อไปนี้

ภาษีสรรพสามิต =  [(CIF  + ภาษีนำเข้า) x อัตราภาษี ] / [1 – ( 1.1 x อัตราภาษี ) ]

3. ภาษีเพื่อมหาดไทย

ภาษีเพื่อมหาดไทยคือภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นเพื่อจัดสรรให้กับกรุงเทพมหานครและราชการส่นท้องถิ่น คิดที่ 10% ของภาษีสรรพสามิต

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่มจะคิด 7% ของราคาสุดท้าย สรุปก็คือ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (CIF + อากรขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาไทย) x 7%

ตัวอย่างการคำนวณ

สมมติให้รถยนต์คันหนึ่งมีค่า CIF ที่ 700,000 บาท

อากรขาเข้า (80%) = 700,000 x 80% = 560,000

ภาษีสรรพสามิต(โดยพื้นฐานอยู่ที่ 30%) = [(700,000 + 560,000) x 30% ] / [1 – (1.1 x 30%)] = 564,179

ภาษีเพื่อมหาดไทย = 564,179 x 10% = 56,417.9

ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT 7%) = (700,000 + 560,000 + 564,179 + 56,417.9) x 7% = 131,641.78

สรุปก็คือ ต้นทุนของรถยนต์คันหนึ่งจะมีต้นทุนทั้งหมดอยู่ที่ 700,000 + 560,000 + 564,179 + 56,417.9 + 131,641.78 = 2,012,238.68 นั่นเอง

อนึ่ง ล่าสุดในปี 2565 ที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้ลดอัตราอากรขาเข้าของรถไฟฟ้า โดยอยู่ที่ลดจากเดิมประมาณ 40% ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่และอื่น ๆ